วิตามินบี ประโยชน์ของวิตามินบีรวม (ทั้งหมด 13 ชนิด) !
วิตามินบี หรือ วิตามินบีรวม ที่เรารู้จักมักคุ้นกันในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่คุณรู้หรือไม่ว่าวิตามินบีนั้นมีอยู่หลายชนิด และต่างก็มีประโยชน์และผลข้างเคียงที่ต่างกันออกไป โดยวิตามินบีแต่ละตัวจะทำงานเสริมซึ่งกันและกัน ต้องรับประทานร่วมกันจึงจะมีประสิทธิภาพมากกว่าแยกรับประทาน สำหรับชนิดต่าง ๆ ของวิตามินบีรวมนั้นก็ได้แก่ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 วิตามินบี 7 วิตามินบี 9 วิตามินบี 12 วิตามินบี 15 วิตามินบี 17 และยังรวมไปถึง ไบโอติน โคลีน พาบา อิโนซิทอล อีกด้วยที่จัดว่าอยู่ในกลุ่มของวิตามินบีรวม
สำหรับการรับประทานวิตามินบีในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น ไม่ควรแยกรับประทานเพราะจะไม่ได้ประสิทธิภาพดีเท่าที่ควร แต่ควรรับประทานเป็นวิตามินบีรวม เพราะวิตามินบีแต่ละชนิดนั้นจะทำหน้าที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน และจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานอย่างสูงสุด โดยวิตามินบีรวมนั้นมีความจำเป็นอย่างมากต่อระบบประสาทและความสมบูรณ์ของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
วิตามินบี 1 (ไทอะมีน)
- วิตามินบี 1 หรือ ไทอะมีน มีชื่อเรียกว่า “วิตามินเสริมขวัญและกำลังใจ” เพราะมีส่วนช่วยบำรุงประสาท
- แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ ผัก โฮลวีต ถั่วเหลือง ข้าวโอ๊ต ถั่วลิสง รำข้าว เปลือกข้าว เมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสี บริเวอร์ยีสต์ นม ไข่แดง ปลา เนื้อออร์แกนิก เนื้อหมูไม่ติดมัน
- ปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือ 1 – 1.5 มิลลิกรัม
- ผลเสียของการรับประทานเกินขนาดยังไม่พบว่ามีอาการเป็นพิษ หากรับประทานเกินขนาดก็จะถูกขับออกทางปัสสาวะและไม่มีการสะสมแต่อย่างใด แต่หากมีอาการ (ซึ่งพบได้น้อยมาก ๆ หรือแทบไม่เกิดเลย) ก็คือ สั่น โรคเริมกำเริบ ตัวบวม กระวนกระวาย หัวใจเต้นเร็ว และภูมิแพ้
- ประโยชน์ของวิตามินบี1
1. ช่วยบำรุงประสาท กล้ามเนื้อ ทำให้หัวใจทำงานเป็นปกติ
2. ช่วยบำรุงสมอง ความคิด สติปัญญาให้ดีขึ้น
3. ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต
4. ช่วยย่อยอาหารจำพวกแป้งได้ดี
5. ช่วยบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน
6. ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดหลังการผ่าตัดทำฟัน
7. ช่วยรักษาโรคงูสวัด
8. ช่วยรักษาโรคเหน็บชา
วิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน)
- วิตามินบี 2 หรือ ไรโบฟลาวิน มีอีกชื่อว่า วิตามินจี (Vitamin G)
- แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ ไข่ นม ถั่ว โยเกิร์ต ชีส ผักใบเขียว ปลา ตับ ไต
- ปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือ 1.2 – 1.7 มิลลิกรัม แต่ขนาดที่ใช้รับประทานต่อวันโดยทั่วไปคือ 100-300 mg.
- ผลเสียของการรับประทานเกินขนาด ยังไม่พบอาการที่บ่งชี้ว่าเป็นพิษที่เกิดจากการรับประทานวิตามินชนิดนี้ แต่มีความเป็นไปได้ว่าหากในร่างกายมีวิตามินชนิดนี้สูงเกินไปก็คือ คัน รู้สึกชา อาการแสบยิบ ๆ
- โรคจากการขาดวิตามินบีชนิดนี้ ได้แก่ โรคปากนกกระจอก หรือโรคขาดวิตามินบี 1 และบี 2 พบที่บริเวณริมฝีปาก มุมปาก ผิวหนัง อวัยวะสืบพันธุ์
- ประโยชน์ของวิตามินบี 2
1. บำรุงผิวพรรณ เล็บ และเส้นผม
2. ช่วยในกระบวนการสร้างการเจริญเติบโตและสืบพันธุ์
3. เพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น ช่วยบรรเทาอาการอ่อนล้าของสายตา
4. ช่วยลดความเจ็บปวดจากไมเกรน
5. กำจัดอาการเจ็บแสบในปาก ริมฝีปาก และลิ้น
6. ทำงานร่วมกับสารอื่น ๆ ในการเผาผลาญอาหารประเภทแป้ง ไขมัน และโปรตีน
วิตามินบี 3 (ไนอะซิน)
- วิตามินบี 3 หรือ ไนอะซิน สำหรับชื่ออื่น ๆ ได้แก่ ไนอะซินาไมด์, กรดนิโคตินิก, นิโคตินาไมด์
- แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ ไข่ ปลา เนื้อไม่ติดมัน เนื้อขาวจากพวกสัตว์ปีก ตับ โฮลวีต จมูกข้าวสาลี ถั่วลิสง อะโวคาโด อินทผลัม ลูกพรุน มะเดื่อฝรั่ง บริเวอร์ยีสต์
- ปริมาณที่แนะนำให้คุณรับประทานต่อวันคือ 13-19 มิลลิกรัม
- โรคจากการขาดวิตามินบีชนิดนี้ ได้แก่ โรคเพลลากรา (Pellagra) ลักษณะอาการคือเป็นผื่นผิวหนังอักเสบรุนแรง
- ผลเสียของการรับประทานเกินขนาด
1. อาจมีแนวโน้มเป็นโรคเกาต์หรือมีอาการปวดตามข้อได้ หากในร่างกายคุณมีไนอะซินมากเกินไป
2. ผลข้างเคียงอาจมีอาการร้อนวูบวาบ หน้าแดง คันตามตัว เมื่อรับประทานเกินกว่า 100 mg.
3. ไม่ควรให้สัตว์กินไนอะซิน โดยเฉพาะสุนัข เพราะอาจมีอาการเหงื่อออก ร้อนวูบวาบตามตัว และสร้างความอึดอัดแก่สัตว์เลี้ยงได้
4. ทำให้ผู้ที่มีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวานมีปัญหาต่อการควบคุมน้ำตาลในเลือด หรือส่งผลให้อาการของโรคเบาหวานรุนแรงขึ้นได้และอาจทำให้ตับทำงานผิดปกติได้ เพราะไนอะซินในร่างกายที่มีสูงมากเกินไปจะส่งผลต่อการควบคุมน้ำตาลในร่างกาย - ประโยชน์ของวิตามินบี 3
1. ช่วยบำรุงผิวพรรณ
2. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์
3. ช่วยเผาผลาญไขมันและช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น บรรเทาปัญหาต่าง ๆ ของระบบย่อยอาหาร
4. บรรเทาอาการปวดศีระษะจากไมเกรน
5. ลดอาการวิงเวียนศีรษะของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
6. เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ช่วยลดความดันโลหิต
7. ช่วยรักษาอาการร้อนในและกลิ่นปาก
8. บรรเทาอาการท้องร่วง
9. ช่วยเพิ่มพลังงานที่ได้จากการย่อยและเผาผลาญอาหาร
วิตามินบี 5 (กรดแพนโทเทนิก)
- แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไก่ ตับ ไต หัวใจ ธัญพืชไม่ขัดสี รำข้าว จมูกข้าวสาลี ถั่ว ผักสีเขียว กากน้ำตาลไม่บริสุทธิ์ บริเวอร์ยีสต์
- ขนาดที่แนะนำให้รับประทานสำหรับผู้ใหญ่คือ 10 mg. ต่อวัน
- โรคจากการขาดวิตามินบี 5 ได้แก่ โรคไฮโปไกลซีเมีย (Hypoglycemia) หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นแผลในลำไส้เล็ก โรคเลือด โรคผิวหนัง
- ประโยชน์ของวิตามินบี 5
1. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์
2. ช่วยลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาปฏิชีวนะ
3. ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย
4. ช่วยในกระบวนการรักษาแผล
5. ช่วยรักษาอาการช็อกหลังการผ่าตัด
6. ช่วยป้องกันการอ่อนเพลียของร่างกาย
7. ช่วยลดความเจ็บปวดจากโรคข้ออักเสบในผู้ป่วยบางรายได้
8. ช่วยรักษาอาการเหน็บชาที่มือและเท้า
9. ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย
วิตามินบี 6 (ไพริด็อกซิน)
- วิตามินบี 6 หรือ ไพริด็อกซิน เป็นคำที่ใช้เรียกรวมกันของกลุ่มสารที่มีโครงสร้างคล้ายกันและทำงานร่วมกัน ซึ่งประกอบไปด้วย ไพริด็อกซิน ไพริด็อกซาล และไพริด็อกซามีน
- แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ บริเวอร์ยีสต์ รำข้าว จมูกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสี ถั่วลิสง ถั่วเหลือง วอลนัต กะหล่ำปลี กากน้ำตาล แคนตาลูป ไข่ ตับ ปลา
- ขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันคือ 1.6 – 2 mg.
- ผลเสียของการรับประทานเกินขนาด อาจเกิดอาการกระสับกระส่ายในเวลานอน ฝันเหมือนจริงเกินไป เท้าชาและมีอาการกระตุก สำหรับผู้ที่รับประทานขนาด 2,000 – 10,000 mg. ทุกวันอาจทำให้เกิดปัญหาต่อระบบประสาทได้ ขอแนะนำว่าควรรับประทานขนาดไม่เกิน 500 mg. ต่อวันจะปลอดภัยกว่า
- โรคจากการขาดวิตามินบี 6 โรคโลหิตจาง ผื่นผิวหนังอักเสบจากต่อมไขมัน
- ประโยชน์ของวิตามินบี 6
1. ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกายให้แข็งแรง
2. ช่วยชะลอวัยได้
3. ช่วยป้องกันการเกิดนิ่วในไต
4. ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ
5. ทำให้ร่างกายดูดซึมโปรตีนและไขมันได้ดียิ่งขึ้น
6. ช่วยเปลี่ยนรูปของทริปโตเฟน ให้เป็นวิตามินบี 3
7. ช่วยป้องกันโรคทางประสาทและโรคผิวหนังหลายชนิด
8. ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน
9. เป็นยาขับปัสสาวะตามธรรมชาติ
10. ลดอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งในเวลากลางคืน มือชา ขาเป็นตะคริว และปลายประสาทที่แขนขาอักเสบบางชนิด
11. ช่วยลดอาการปากแห้งและปัญหาด้านการปัสสาวะที่เกิดจากการรับประทานยาต้านอาการซึมเศร้าในกลุ่มไตรไซคลิก
วิตามินบี 7 (ไบโอติน)
- วิตามินบี 7 (Biotin) หรือ วิตามินเอช เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ซึ่งมีซัลเฟอร์เป็นส่วนประกอบและจัดอยู่ในกลุ่มวิตามินบีรวม
- แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ ตับวัว ไข่แดง นม แป้งถั่วเหลือง เนย ถั่วลิสง บริเวอร์ยีสต์ ข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสี
- ขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันคือ 100 – 300 mcg.
- โรคจากการขาดไบโอติน ผมร่วง ซึมเศร้า เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรง การเผาผลาญไขมันทำงานไม่สมบูรณ์ เป็นผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณหน้าและตัว แต่ทั้งนี้ยังไม่พบผู้ที่มีอาการเป็นพิษจากการรับประทานไบโอตินเกินขนาดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
- ประโยชน์ของไบโอติน
1. ช่วยป้องกันผมหงอกได้ดี
2. ช่วยป้องกันและรักษาโรคเกี่ยวกับเส้นผมและหนังศีรษะล้าน
3. ช่วยป้องกันและบำรุงรักษาเล็บที่แห้งเปราะ
4. ช่วยในการเผาผลาญไขมันและโปรตีน
5. บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
6. ช่วยบรรเทาอาการผื่นผิวหนังอักเสบ ผดผื่นคันต่าง ๆ
วิตามินบี 9 (กรดโฟลิก)
- วิตามินบี 9 หรือ กรดโฟลิก (โฟเลต,โฟลาซิน) หรือรู้จักกันในชื่อ วิตามินเอ็มหรือวิตามินบีซี (BC)
- แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ ไข่แดง ตับ ผักใบเขียวเข้ม แคร์รอต แคนตาลูป ฟักทอง เอพริคอต อะโวคาโด อาร์ทิโชก ถั่ว แป้งไรย์แบบสีเข้มที่ไม่ผ่านการขัดสี ทอร์ทูลายีสต์
- ขนาดที่แนะนำให้รับประทานคือประมาณ 180 – 200 mcg. ต่อวัน
- ผลเสียของการรับประทานเกินขนาด ปัจจุบันยังไม่พบว่ามีอาการที่เป็นพิษต่อร่างกายหากรับประทานในปริมาณมากติดต่อกัน แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการผื่นแพ้ได้บ้าง และหากร่างกายมีกรดโฟลิกมากเกินไป อาจทำให้เป็นโรคโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 แต่ไม่แสดงออกมา
- โรคจากการขาดวิตามินบี 9 โรคโลหิตจางแบบแมโครไซติกหรือเม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ผิดปกติ
- ประโยชน์ของวิตามินบี 9
1. ช่วยบำรุงผิวพรรณและสุขภาพ
2. ช่วยแก้ปัญหาสีผิวไม่สม่ำเสมอได้
3. ช่วยชะลอให้ผมขาวช้าลง หากรับประทานร่วมกับพาบา และวิตามินบี5
4. ช่วยให้เจริญอาหาร หากร่างกายอ่อนเพลีย
5. ช่วยป้องกันแผลร้อนในได้
6. ช่วยรักษาภาวะซีดหรือโลหิตจาง
7. ทำงานออกฤทธิ์คล้ายยาแก้ปวด
8. ช่วยป้องกันพยาธิในลำไส้และอาการแพ้จากอาหารเป็นพิษ
9. ช่วยป้องกันการพิการของเด็กทารกแรกเกิด
10. ช่วยในการสร้างน้ำนมของมารดาหลังคลอดบุตร
11. ช่วยลดระดับของกรดอะมิโนโฮโมซิสเทอีนในเลือด
12. ชวยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้
วิตามินบี 12 (โคบาลามิน)
- วิตามินบี 12 หรือ โคบาลามิน (Cobalamin) มีอีกชื่อที่รู้กันดีคือ วิตามินแดงหรือไซยาโนโคบาลามิน (Cyanocobalamin)
- แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ เนื้อสัตว์เป็นหลัก ตับ ไต นม ไข่แดง ชีส ปลา เนื้อหมู เนื้อวัว อาหารหมักดอง เป็นต้น
- ขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือ 2 ไมโครกรัม
- หากร่างกายขาดวิตามินบี 12 อาจทำให้เกิด โรคโลหิตจางและโรคเกี่ยวกับระบบประสาทได้
- ประโยชน์ของวิตามินบี12
1. ช่วยบำรุงประสาททำให้ระบบประสาทแข็งแรงขึ้น
2. ช่วยเพิ่มสมาธิ ความจำ และการทรงตัว
3. ช่วยบรรเทาอาการหงุดหงิด ลดความเครียด
4. ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตและเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกาย
5. ช่วยทำให้เด็กเจริญอาหาร
6. ทำให้ร่างกายสามารถใช้ไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตได้อย่างเหมาะสม
7. มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
8. ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง
9. ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งจากการสูบบุหรี่
10. ปริมาณ 80 ไมโครกรัมต่อวันจะช่วยเสริมสร้างความแข็งของกระดูกและช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนได้
วิตามินบี 15 (กรดแพงเกมิก)
- แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ ข้าวกล้อง เมล็ดฟักทอง เมล็ดงา เมล็ดธัญพืชไม่ขัดสี บริเวอร์ยีสต์
- ผลเสียของการรับประทานเกินขนาด ยังไม่พบว่าหากรับประทานในปริมาณมากจะมีอาการเป็นพิษต่อร่างกาย แต่อาจมีอาการคลื่นไส้ในช่วงแรก ๆ ที่เริ่มรับประทานวิตามินบี 15 แต่อาการมักจะหายไปได้เองภายในไม่กี่วัน และอาจจะบรรเทาอาการโดยเริ่มต้นรับประทานวิตามินบี 15 หลังมื้ออาหารที่หนักที่สุดของวัน
- โรคที่พบจากการขาดวิตามินบี15 เนื่องจากวิตามินตัวนี้ยังมีงานวิจัยค่อนข้างน้อยและจำกัด แต่มีความเป็นไปได้ว่าการขาดวิตามินบี 15 จะทำให้เกิดความผิดปกติของต่อมและเส้นประสาท โรคหัวใจ สภาวะที่ออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่าง ๆได้น้อยลง
- ประโยชน์ของวิตามินบี15
1. ช่วยเพิ่มการตอบสนองภูมิคุ้มกันของร่างกาย
2. ช่วยในการสังเคราะห์โปรตีน
3. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
4. ช่วยบรรเทาอาการอยากดื่มสุรา
5. ช่วยรักษาอาการเมาค้าง
6. ช่วยปกป้องตับจากภาวะตับแข็ง
7. เร่งการฟื้นตัวจากความอ่อนเพลีย
8. ช่วยป้องกันอันตรายจากมลพิษต่าง ๆ
9. สามารถยืดอายุของเซลล์ในหลอดทดลองได้
10. ช่วยบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคหืด
วิตามินบี 17 (อะมิกดาลิน)
- วิตามินบี 17 หรือ อะมิกดาลิน (Amygdalin) หรือ เลไทรล์ (Laetrile)
- แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ เมล็ดพืชโดยเฉพาะเมล็ดเอพริคอต และยังมีเมล็ดอื่น ๆ อีก เช่น เมล็ดแตงโม เมล็ดพลับ เมล็ดถั่วอัลมอนด์ เมล็ดทานตะวัน ข้าว ถั่ว รวมไปถึงถั่วแมคาเดเมีย
- การได้รับวิตามินชนิดนี้ในปริมาณที่มากเกินไปอาจจะทำให้ตัวเย็น เหงื่อออก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ มีอาการง่วงซึม หายใจติดขัด ริมฝีปากเขียว ความดันต่ำ
- เชื่อกันว่าวิตามินชนิดนี้สามารถช่วยรักษาโรคมะเร็งได้ (แต่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่มากและยังไม่เป็นที่ยอมรับ)
- วิตามินชนิดนี้สามารถช่วยป้องกันความเสื่อมทางสมองได้ และสามารถช่วยทำให้ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอกลับมามีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเหมือนเดิมและสุขภาพจิตก็ดีขึ้น
พาบา (กรดพารา-แอมิโนเบนโซอิก)
- พาบา (PABA) หรือ กรดพารา-แอมิโนเบนโซอิก เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของวิตามินบีรวม
- แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ ตับ ไต ข้าว รำข้าว จมูกข้าวสาลี ธัญพืชไม่ขัดสี กากน้ำตาล บริเวอร์ยีสต์
- ผลเสียของการรับประทานเกินขนาด ยังไม่พบว่ามีอันตรายต่อร่างกายหากรับประทานในปริมาณสูงและต่อเนื่อง แต่ไม่แนะนำให้รับประทานในปริมาณที่สูงต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน ส่วนอาการที่อาจบ่งบอกว่าในร่างกายได้รับพาบามากเกินไปที่พบเห็นได้บ่อยคือ คลื่นไส้อาเจียน
- ประโยชน์ของพาบา
1. ช่วยให้ผิวพรรณมีสุขภาพดีและเนียนนุ่ม
2. ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยได้
3. ช่วยลดความเจ็บปวดจากแผลไหม้
4. ช่วยฟื้นคืนสีผมตามธรรมชาติให้กับเส้นผม โรคจากการขาดพาบา ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดเอ็กซีมา
โคลีน (Choline)
- โคลีน (Choline) เป็นหนึ่งในสารที่ช่วยเร่งกระบวนการเผาผลาญไขมันในร่างกาย และจัดอยู่ในกลุ่มของวิตามินบีรวม
- แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ ไข่แดง เนื้อสัตว์ หัวใจ สมอง ตับ ปลา ผักใบเขียว ยีสต์ จมูกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ถั่วเหลือง ถั่วลิสง กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก
- ยังไม่มีขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันอย่างเป็นทางการ แต่มีการประมาณว่าในวัยผู้ใหญ่สามารถรับประทานได้ประมาณ 500 – 900 mg. ต่อวัน
- โรคจากการขาดโคลีน
1. โรคอัลไซเมอร์
2. ผนังหลอดเลือดแดงแข็งตัว
3. โรคตับแข็งหรือไขมันสะสมที่ตับ - ประโยชน์ของโคลีน
1. ช่วยทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย
2. ช่วยต่อสู้กับปัญหาความจำเสื่อมในวัยสูงอายุ (ด้วยขนาด 1,000 – 5,000 mg. ต่อวัน)
3. ช่วยรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้
4. ช่วยในกระบวนการส่งกระแสประสาท โดยเฉพาะในสมองส่วนที่ทำงานด้านความจำ
5. ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ
6. ช่วยป้องกันภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด
7. ช่วยลดการสะสมตัวของคอเลสเตอรอลได้
8. ช่วยกำจัดสารพิษและยาที่ค้างในร่างกาย โดยช่วยเสริมการทำงานของตับ
อิโนซิทอล (Inositol)
- อิโนซิทอล (Inositol) เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ จัดอยู่ในกลุ่มของวิตามินบีรวม
- แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ ตับ สมองและหัวใจวัว จมูกข้าวสาลี กากน้ำตาล ถั่วลิสง ถั่วลิมาแห้ง ลูกเกด แคนตาลูป เกรปฟรุต กะหล่ำปลี บริเวอร์ยีสต์
- ขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันยังไม่มีระบุอย่างเป็นทางการ แต่สำหรับผู้ใหญ่สามารถรับประทานได้วันละ 500 – 1,000 mg.
- โรคจากการขาดอิโนซิทอล
1. ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดเอ็กซีมา (Eczema) โดยมีลักษณะอาการคือ บวมแดง คัน ผิวหนังลอกเป็นขุย
2. มีอาการท้องผูกได้ง่าย เนื่องจากการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวลำไส้จะทำงานผิดปกติ จึงทำให้อาหารตกค้างในลำไส้ใหญ่
3. อาจเกิดความผิดปกติในดวงตา เช่น ตาบอดกลางคืน ต้อกระจก ต้อหิน และการมองเห็นผิดปกติได้
4. เกิดภาวะผมร่วงได้
5. อาจเกิดภาวะเส้นเลือดอุดตัน หรือมีการแข็งตัวของผนังเส้นเลือดได้
6. อาจเกิดภาวะเสื่อมและอักเสบของปลายประสาท ทำให้มีอาการชา หรือปวดร้อนตามปลายมือปลายเท้าได้ - ประโยชน์ของอิโนซิทอล
1. ป้องกันการหลุดร่วงของเส้นผม ช่วยให้เส้นผมมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง
2. ทำให้รู้สึกสงบ ช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล
3. สามารถช่วยป้องกันมะเร็งบางชนิดได้
4. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและช่วยเร่งกระบวนการเผาผลาญไขมัน
5. ช่วยปรับการสะสมของไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
6. ช่วยฟื้นฟูอวัยวะต่าง ๆ ของผู้ป่วยเบาหวานให้ดีขึ้น
7. ช่วยป้องกันผื่นผิวหนังอักเสบเอ็กซีมา
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)
------------------------------------------------------------------------------------
สนใจสินค้าสุขภาพและความงาม http://www.moryanaresuan.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น