วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

การนอนกับภาวะหยุดหายใจ


การนอนกับภาวะหยุดหายใจ thaihealth
แฟ้มภาพ
วันนี้เราจะมาพูดกันเรื่องของการนอนที่มีประสิทธิภาพ และภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ จากล่าสุดที่มีข่าวว่าหมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดเลย ผู้สูงอายุที่นี่มีพฤติกรรมการนอนที่น่าสนใจ คือจะเข้านอนไม่เกินหกโมงเย็นและตื่นนอนตอนตี 2 ของทุกวัน ต่อกันด้วยข่าวถัดมาของชาวอเมริกันรายหนึ่งที่เอามือไปลูบคลำใบหน้าและหน้าอกของหญิงสาวที่นั่งข้างๆ ขณะโดยสารอยู่บนเครื่องบิน โดยอ้างว่าเป็นภาวะการหยุดหายใจขณะหลับที่เขาไม่ได้ตั้งใจ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกันชัดๆ กับภาวะนี้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร รวมทั้งการนอนที่มีคุณภาพของผู้สูงวัยด้วย
สำหรับระยะเวลาในการนอนของผู้สูงวัยที่เหมาะสมนั้นไม่มีข้อกำหนดตายตัว แต่โดยเฉลี่ยของระยะเวลาการนอนของผู้สูงอายุทั่วไปจะอยู่ที่ 6 ชั่วโมงครึ่ง ความจริงแล้วระยะเวลาการนอนไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพการนอน โดยการนอนที่มีคุณภาพนั้นคือการนอนหลับสนิท ไม่ลุกตื่นขึ้นมากลางดึก นอนหลับเต็มอิ่ม ไม่รู้สึกอ่อนเพลียในเวลากลางวัน โดยตัวอย่างที่เห็นภาพง่ายๆ ของคุณภาพการนอนที่ไม่ดีนั้นก็คือการนอนไม่หลับนั่นเอง สาเหตุนั้นมีหลากหลายในผู้สูงอายุที่นอนไม่หลับ แบ่งออกเป็น 3 ปัจจัยใหญ่ๆ ได้แก่
-ปัจจัยด้านร่างกาย ที่อาจมีอาการเจ็บป่วยประจำตัว เช่น ปวดขา ทำให้นอนหลับไม่สนิท หรือโรคประจำตัวอื่นๆ อย่างปลายประสาทเสื่อม มีอาการปลายมือปลายเท้าร้อนในเวลากลางคืน ทำให้นอนไม่หลับหรือหลับไม่สบายนั่นเอง รวมทั้งตัวยาบางตัวก็ส่งผลต่อการนอนเช่นกัน ทำให้ผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัวและต้องทานยาเป็นประจำ หากตัวยานั้นมีผลก็จะเกิดภาวะการนอนไม่หลับได้ด้วย
-ปัจจัยด้านสภาวะจิตใจ ในส่วนนี้มักเกิดจากความเครียด และโดยปกติคนสูงอายุจะเครียดง่าย เมื่อเครียดแล้วสภาพจิตใจจะไม่ปกติ มีความกังวลใจ รวมถึงการสูญเสียคนรัก พบมากในผู้สูงวัยที่อยู่กันจนแก่เฒ่า เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายจากก็ทำให้อีกฝ่ายมีสภาวะจิตใจที่ผิดปกติไป ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลให้นอนไม่หลับได้เช่นกัน
-ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น บ้านอยู่ใกล้โรงงานอุตาสาหกรรมที่มีเสียงดังหรือส่งกลิ่นเหม็น ก็อาจทำให้นอนไม่หลับได้ รวมทั้งผู้นอนร่วมด้วยก็มีส่วนหากมีอาการนอนกรน และอื่นๆ ที่รบกวน ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับได้เช่นกัน
นอกจากระยะเวลาการนอนจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว ช่วงเวลาการนอนก็เช่นกัน สำหรับผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมนอนไม่เกินหกโมงเย็นและตื่นตีสองของหมู่บ้านหนึ่งที่เป็นข่าวนั้นก็ไม่ได้ส่งผลเสียแต่อย่างใด ถ้าหากผู้สูงอายุกลุ่มนี้ตื่นมาแล้วไม่รู้สึกอ่อนเพลียระหว่างวัน สามารถประกอบกิจกรรมประจำวันได้อย่างปกติ หรือหากมีคุณภาพการนอนที่ดีนั่นเอง ฉะนั้นยังคงยึดเกณฑ์เดิมว่าการนอนที่เหมาะสมคือการนอนที่มีคุณภาพ หลับสบายและเต็มอิ่มตลอดคืน
ต่อด้วยเรื่องของ “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ” ที่เกิดจากการหายใจที่ผิดปกติของร่างกาย สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย จากผลสำรวจพบในผู้ชายอัตราร้อยละ 25 และพบในผู้หญิงอัตราร้อยละ 10 สาเหตุของภาวะนี้น้ำหนักตัวก็มีส่วน เพราะถ้าหากมีน้ำหนักตัวที่ผิดปกติ จะทำให้มีท่อคอหอยที่แคบ ขณะหลับกล้ามเนื้อของเพดานจะหย่อนหรือต่อมทอนซิลจะหย่อนลงและปิดกั้นทางเดินหายใจ ยิ่งหลับลึกมากก็ยิ่งหย่อนมากและปิดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาจะทำให้สมองขาดออกซิเจน โดยภาวะดังกล่าวมีความอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย
อาการของผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
-นอนกรน
-เหงื่อออกตอนกลางคืน
-นอนหลับไม่สนิท
-นอนกระสับกระส่าย
-สะดุ้งตื่นตอนกลางคืน
-บุคลิกภาพและสมาธิเปลี่ยนไป
-ปวดหัวหลังตื่นนอน
-อ่อนเพลียตอนกลางวัน
-คอแห้งหรือเจ็บคอหลังตื่นนอน
-เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับสามารถสังเกตคนรอบข้างได้หากนอนด้วยกันหรือให้คนรอบข้างที่นอนด้วยกันสังเกตพฤติกรรมของเราได้เช่นกัน แต่เราจะไม่สามารถสังเกตตัวเองได้ขณะหลับ อาจใช้วิธีสังเกตอาการหลังตื่นนอนแทน แล้วตั้งข้อสงสัยถึงความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ แล้วสามารถไปปรึกษาแพทย์และสังเกตได้ที่ Sleep lap หรือห้องทดสอบการนอน ซึ่งจะทำการบันทึกวิดีโอเพื่อสังเกตพฤติกรรมการนอน มีการวัดคลื่นสมอง เพื่อสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะนอนกรน รวมถึงภาวะการหยุดหายใจได้ หากใครที่รู้สึกว่าตัวเองไม่สดชื่นหลังตื่นนอน หรืออ่อนเพลียระหว่างวัน เหมือนนอนไม่เต็มอิ่ม ก็ให้ตั้งข้อสังเกตของตัวเอง เพราะอาจมาจากสาเหตุนี้
ที่มา : รามาแชนแนล Rama Channel
------------------------------------------------------------------------------------
ติดตามเราเป็นเพื่อนเฟสบุคหมอยานเรศวร  http://www.facebook.com/moryanaresuan  
ติดตามเราเป็นเพื่อนทางไลน์ http://line.me/ti/p/%40morya
สนใจสินค้าสุขภาพและความงาม http://www.moryanaresuan.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น