วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แคลเซียมกลูโคเนต (Calcium gluconate) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

แคลเซียมกลูโคเนต (Calcium gluconate) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ


ยาแคลเซียมกลูโคเนต
แคลเซียมกลูโคเนต (Calcium gluconate หรือ Ca gluconate) เป็นยาที่ใช้สำหรับเสริมแคลเซียมในผู้ป่วยที่มีระดับแคลเซียมในร่างกายต่ำ และในทางคลินิกยานี้ยังถูกนำมาใช้ในวัตถุประสงค์อื่น ๆ อีกด้วย โดยรูปแบบยาแผนปัจจุบันที่ใช้กันจะเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานและยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ยาแคลเซียมกลูโคเนตเป็นยาที่จำเป็นขั้นพื้นฐานของแต่ละประเทศ สำหรับในประเทศไทยนั้นได้บรรจุยาแคลเซียมกลูโคเนตลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และมีหลายขนาดความแรง ประชาชนทั่วไปมักคุ้นเคยกับยากลุ่มแคลเซียมชนิดเม็ดสำหรับรับประทานเท่านั้น ซึ่งก็รวมถึงยาแคลเซียมกลูโคเนตด้วย อย่างไรก็ตาม การใช้ยานี้มากเกินขนาดก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงตามมาได้ ดังนั้น ก่อนการใช้ยานี้จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชก่อนเสมอ และไม่ควรไปหาซื้อยามารับประทานด้วยตนเอง

ตัวอย่างยาแคลเซียมกลูโคเนต

ยาแคลเซียมกลูโคเนต (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น แคลซิออน (Calcion), แคลเซียมกลูโคเนต จีพีโอ (Calcium gluconate GPO), แคลเซียมกลูโคเนต ที.โอ. (Calcium gluconate T.O.), คาลฟอร์ต (KAL-forte) ฯลฯ
แคลเซียมกลูโคเนตคือ
IMAGE SOURCE : emedicinehealth.com

รูปแบบยาแคลเซียมกลูโคเนต

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีด ชนิด 10% (10 มิลลิลิตร)
  • ยาเม็ดฟู่ละลายน้ำ ที่ประกอบด้วยเกลือแคลเซียมชนิดอื่น ๆ เช่น แคลเซียมกลูโคเนต (Calcium gluconate) 0.01 กรัม + แคลเซียมแลคเตท (Calcium lactate) 2.93 กรัม + แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) 0.3 กรัม
หมายเหตุ : แคลเซียมกลูโคเนตชนิดเม็ดและเม็ดฟู่ เหมาะกับผู้ที่มีภาวะร่างกายขาดแคลเซียม เช่น เป็นโรคกระดูกพรุนและต้องการแคลเซียมเข้าไปเสริมสร้างร่วมกับแคลเซียมที่ได้รับจากสารอาหารประจำวัน ส่วนแคลเซียมกลูโคเนตชนิดฉีดนั้นจะเหมาะกับผู้ที่มีภาวะร่างกายขาดแคลเซียมอย่างมาก เช่น มีอาการชักเกร็งและต้องการแคลเซียมชดเชยอย่างเร่งด่วน หรือให้กับหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในภาวะแคลเซียมต่ำ
เกลือแคลเซียมแต่ละชนิดจะให้ปริมาณแคลเซียมที่แตกต่างกัน ดังนี้
  • แคลเซียมกลูโคเนต (Calcium gluconate) มีเกลือแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ 9% ซึ่งมีปริมาณน้อย (ถ้ารับประทานยาแคลเซียมกลูโคเนตในขนาด 1,000 มิลลิกรัม ร่างกายจะได้รับแคลเซียมเป็นจำนวน 90 มิลลิกรัม หรือร้อยละ 9 ของ 1,000 มิลลิกรัม) หากใช้เป็นองค์ประกอบหลักของยาเม็ดจะต้องรับประทานในปริมาณมากต่อวัน ส่วนอัตราการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายก็ไม่ค่อยแน่นอนนัก และจำเป็นต้องรับประทานยาพร้อมหรือหลังอาหาร แต่ข้อดีของแคลเซียมชนิดนี้ คือ ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังหรือทางอาหาร
  • แคลเซียมแลคเตท (Calcium lactate) มีเกลือแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ 13% มีอัตราการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ปานกลาง และสามารถนำไปใช้เป็นยาลดกรดได้ด้วย
  • แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) มีเกลือแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ 40% ค่อนข้างมีราคาถูก พบได้ในอาหารทะเลเป็นส่วนมาก แต่มีอัตราการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจากระบบทางเดินอาหารได้น้อย ต้องรับประทานพร้อมมื้ออาหารจึงจะช่วยให้ยาถูกดูดซึมได้ดีขึ้น
แคลเซียมกลูโคเนต
IMAGE SOURCE : www.otcitems.com, www.meritpharm.com

สรรพคุณของยาแคลเซียมกลูโคเนต

  • ใช้ป้องกันหรือบำบัดรักษาผู้ที่ร่างกายขาดแคลเซียม ผู้ที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารที่รับประทานตามปกติไม่เพียง หรือผู้ที่มีความต้องการแคลเซียมเพิ่มขึ้น เช่น ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่เสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน
  • ใช้ป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน
  • ใช้บำบัดรักษาภาวะร่างกายได้รับเกลือแร่โพแทสเซียมและเกลือแร่แมกนีเซียมในเลือดสูงเกินปกติ
  • ใช้รักษาภาวะร่างกายได้รับยาในกลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blockers) เกินขนาด
  • ใช้เป็นยาทาภายนอก (ยาใช้ภายนอก) เมื่อผิวหนังไหม้หรือเกิดการระคายเคืองจากการสัมผัสกรดไฮโดรฟลูออริก (Hydrofluoric acid) ซึ่งเป็นกรดที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น ใช้เป็นสารละลาย
  • ใช้รักษาอาการชักเกร็งจากภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำหลังผ่าตัดต่อมไทรอยด์ที่ตัดเอาต่อมพาราไทรอยด์ออกไปด้วย หรือมีอาการชักเกร็งจากภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ
  • นอกจากนี้ในอดีตทางการแพทย์ยังเคยใช้ยานี้ชนิดฉีดรักษาผู้ที่ถูกแมงมุมแม่หม้ายดำกัดอีกด้วย

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแคลเซียมกลูโคเนต

แคลเซียมกลูโคเนตจะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยการเข้าไปสร้างสมดุลของเกลือแคลเซียมในกระแสเลือด ทำให้เส้นประสาทกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้อย่างเป็นปกติ นอกจากนี้ร่างกายยังนำแคลเซียมไปใช้ในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและนำไปใช้เพื่อคงความสมดุลของเกลือแร่ต่าง ๆ ในเลือดอีกด้วย

ก่อนใช้ยาแคลเซียมกลูโคเนต

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาแคลเซียมกลูโคเนต สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้
  • ประวัติการแพ้ยาแคลเซียมกลูโคเนต (Calcium gluconate) หรือยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาแคลเซียมกลูโคเนตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยาแคลเซียมกลูโคเนตร่วมกับยาเหล่านี้ เช่น ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones), ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเตตราไซคลีน (Tetracycline) ชนิดรับประทาน, ยาต้านเชื้อรากลุ่มอิมิดาโซล (Imidazole), ยาที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก, ยาที่มีส่วนประกอบของสังกะสี, ไดจอกซิน (Digoxin), เอทิโดรเนต (Etidronate), ไอโซไนอาซิด (Isoniazid), เฟนิโทอิน (Phenytoin) เป็นต้น อาจทำให้ยาแคลเซียมกลูโคเนตมีผลไปรบกวนการดูดซึมของยาเหล่านี้ ทำให้ยาเหล่านี้ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยลง และลดผลการรักษาของยาได้ แต่หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรรับประทานยาแคลเซียมกลูโคเนตให้ห่างจากยาอื่นอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ยกเว้นไอโซไนอาซิด (Isoniazid) ที่อาจรับประทานห่างได้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง
    • การใช้ยาแคลเซียมกลูโคเนตร่วมกับยาแอมโลดิปีน (Amlodipine), เซลลูโลสโซเดียมฟอสเฟต (Cellulose sodium phosphate) อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาแอมโลดิปีน/เซลลูโลสโซเดียมฟอสเฟตลดลง หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรปรึกษาแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณี ๆ ไป
    • การใช้ยาแคลเซียมกลูโคเนตร่วมกับยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) และยาอื่น ๆ ที่ประกอบด้วยแคลเซียม อาจทำให้ระดับความเข้มข้นของแคลเซียมในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนเกิดผลข้างเคียงตามมา หากจำเป็นต้องใช้ร่วม แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณี ๆ ไป
    • การใช้ยาแคลเซียมกลูโคเนตร่วมกับยาไดจอกซิน (Digoxin) อาจทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ แน่นหน้าอก ตาพร่า คลื่นไส้ เป็นลมชัก หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันต้องให้แพทย์ปรับขนาดการรับประทานยาให้เหมาะเป็นกรณี ๆ ไป
    • การใช้ยาแคลเซียมกลูโคเนตร่วมกับยาปฏิชีวนะเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) อาจทำให้เกิดตะกอนผลึกในกระแสเลือด ในปอด หรือในไตได้ โดยเฉพาะกับเด็กทารก
  • มีความผิดปกติหรือมีประวัติความผิดปกติของร่างกาย ดังนี้
    • ท้องผูก หรือมีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะหรือลำไส้
    • หัวใจเต้นไม่ปกติ
    • มีภาวะร่างกายขาดน้ำ
    • มีระดับแคลเซียมในเลือดหรือในปัสสาวะสูง
    • มีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงกว่าปกติ
    • มีปริมาณวิตามินดีในร่างกายสูง
    • โรคไต เพราะอาจทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูง ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้
    • โรคซาร์คอยด์ (Sarcoidosis) เพราะแคลเซียมอาจทำให้ไตผิดปกติหรือมีระดับแคลเซียมในเลือดสูง
    • ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ (Hyperparathyroidism) ซึ่งการได้รับแคลเซียมในผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงขึ้น
  • มีการตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก จนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาแคลเซียมกลูโคเนต

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาแคลเซียมกลูโคเนต
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่มีภาวะเกลือแคลเซียมร่างกายสูง, ผู้ที่รับพิษจากยาไดจอกซิน (Digoxin), ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในระหว่างการกู้ชีพด้วยเครื่องที่เรียกว่า CPR ( Cardiopulmonary resuscitation)
  • สำหรับยาเม็ด ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้ และห้ามเก็บหรือใช้ยาที่หมดอายุ
  • ควรระวังในการใช้ยาแคลเซียมกลูโคเนตชนิดฉีดเข้าหลอดเลือด เพราะอาจก่อให้เกิดอาการหลอดเลือดขยายตัว ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นช้า จนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นได้
  • ควรระมัดระวังในการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคตับ โรคไต ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นนิ่วในไต
  • ควรระมัดระวังในการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร เนื่องจากผลการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ายานี้ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ ดังนั้น การใช้ยานี้แพทย์จะพิจารณาใช้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารก อย่างไรก็ตาม หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรก็จำเป็นต้องได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ เพราะจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของทารก แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแคลเซียมกลูโคเนตในปริมาณมาก ๆ ในระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทั้งแม่และ/หรือทารกในครรภ์ได้

วิธีใช้ยาแคลเซียมกลูโคเนต

  • สำหรับใช้รักษาผู้ที่มีภาวะร่างกายขาดแคลเซียม ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 1,000-3,000 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทาน ในเด็กเล็กถึงเด็กโตให้รับประทานยาวันละ 500-725 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทานทุก ๆ 6-8 ชั่วโมง ส่วนในเด็กทารกหรือเด็กแรกเกิด ให้รับประทานยาวันละ 500-1,500 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทานทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง
  • สำหรับใช้รักษาผู้ที่มีภาวะร่างกายขาดแคลเซียมอย่างมาก เช่น มีอาการชักเกร็งจากภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งแพทย์จะใช้ยาฉีดชนิด 10% ฉีดเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ ในปริมาณ 10 มิลลิลิตร (ควรได้รับยาจากสถานพยาบาลและใช้ยานี้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และที่สำคัญก็คือ ห้ามฉีดยานี้แบบพร่ำเพรื่อ ควรใช้เฉพาะในรายที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำเท่านั้น)

คำแนะนำในการใช้ยาแคลเซียมกลูโคเนต

  • ขนาดยาที่ใช้อาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร หรือตามที่ระบุไว้บนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • สำหรับยาเม็ดให้รับประทานยาพร้อมกับอาหารหรือหลังอาหาร และควรรับประทานยาให้ตรงเวลาทุกครั้ง
  • หากกำลังรับประทานยาอื่นอยู่ ให้รับประทานยานี้ห่างจากยาอื่นอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  • อย่ารับประทานยานี้ภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงในปริมาณมาก ๆ เช่น ข้าวกล้อง ขนมปัง ธัญพืช ผลไม้สดที่มีเส้นใย
  • ควรดื่มน้ำวันละหลาย ๆ แก้ว เพื่อลดอาการท้องผูกจากแคลเซียม (ยกเว้นในผู้ป่วยโรคไตซึ่งต้องจำกัดการดื่มน้ำ)
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน (เช่น กาแฟ) ในระหว่างการใช้ยานี้ เนื่องจากจะทำให้ตัวยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง
  • ไม่รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีแคลเซียม รวมทั้งแคลเซียมกลูโคเนตในปริมาณมาก ๆ เพราะอาจจะทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงได้
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งการใช้ยาของแพทย์ได้ อีกทั้งยาแคลเซียมกลูโคเนตก็สามารถนำไปใช้รักษาภาวะหรืออาการได้หลากหลาย ซึ่งก็จะมีขนาดและระยะเวลาในการใช้ที่แตกต่างกันไป ดังนั้น การใช้ยาให้ถูกต้องและเหมาะสมจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
  • หากพบอาการผิดปกติรุนแรง ควรไปพบแพทย์ในทันที เช่น ท้องผูกรุนแรงหรือต่อเนื่อง ปวดศีรษะอย่างต่อเนื่อง อ่อนเพลียมากผิดปกติ ง่วงซึมหรือมึนงง สับสน เพ้อ ไม่รู้สึกตัว เป็นต้น

การเก็บรักษายาแคลเซียมกลูโคเนต

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิระหว่างห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่อุณหภูมิมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ)
  • ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

เมื่อลืมรับประทานยาแคลเซียมกลูโคเนต

หากลืมรับประทานยาเม็ดแคลเซียมกลูโคเนต ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า (สำหรับยาฉีด หากไม่สามารถไปรับยาได้ตามนัด ควรแจ้งให้แพทย์ที่ทำการรักษาทราบก่อนเสมอ)

ผลข้างเคียงของยาแคลเซียมกลูโคเนต

  • ยานี้อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องผูก ท้องอืด รู้สึกไม่สบายท้อง ปากแห้ง กระหายน้ำ ปัสสาวะมาก ปวดศีรษะ สับสน ง่วงซึมหรือมึนงง เพ้อ ไม่รู้สึกตัว เหนื่อยหรืออ่อนเพลียมากผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้าหรือเต้นเร็วผิดจังหวะ ฯลฯ
    • การใช้ยานี้มากเกินขนาด อาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนแรง ปวดกระดูก ปวดท้อง ปัสสาวะมาก นิ่วในไต ตับอ่อนอักเสบ และอาจเกิดอาการรุนแรงมากกว่านี้ คือ หัวใจเต้นช้าและหัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจเกิดภาวะโคม่าจนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นได้
    • อาการข้างเคียงดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาและจะหายไปเองในระหว่างการรักษา เพราะร่างกายจะปรับตัวให้เข้ากับยา ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย ๆ คือ คลื่นไส้ไม่รุนแรง ท้องผูกไม่รุนแรง ท้องอืด แต่ถ้าอาการข้างเคียงเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร (ถ้าอาการข้างเคียงค่อนข้างรุนแรงต้องไปพบแพทย์ในทันที)
  • สำหรับยาฉีดอาจทำให้มีอาการร้อนซู่ซ่าทั้งตัวได้ (ชาวบ้านมักเข้าใจว่ายาแรง และชอบให้ฉีดโดยไม่จำเป็น) เป็นไข้ คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกอึดอัดที่หน้าอก และถ้าฉีดยานี้เร็วเกินไป อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้
References
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “แคลเซียมกลูโคเนต (Calcium gluconate)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 302-303.
  2. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “CALCIUM GLUCONATE”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [27 ก.ย. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “แคลเซียมกลูโคเนต (Calcium gluconate)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [27 ก.ย. 2016].

    ------------------------------------------------------------------------------------
    ติดตามเราเป็นเพื่อนเฟสบุคหมอยานเรศวร  http://www.facebook.com/moryanaresuan  
    ติดตามเราเป็นเพื่อนทางไลน์ http://line.me/ti/p/%40morya
    สนใจสินค้าสุขภาพและความงาม http://www.moryanaresuan.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น