วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

10 ประโยชน์ของคาร์โบไฮเดรต ! (Carbohydrate)

10 ประโยชน์ของคาร์โบไฮเดรต ! (Carbohydrate)


Carbohydrate
 
คาร์โบไฮเดรต คือ สารประกอบอินทรีย์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และมีอยู่หลายชนิดในธรรมชาติ ซึ่งประกอบไปด้วยอะตอมของ C (คาร์บอน), H (ไฮโดรเจน) และ O (ออกซิเจน) โดยมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตในด้านการเป็นแหล่งพลังงานและเป็นส่วนประกอบของส่วนต่าง ๆ ภายในเซลล์และเยื่อเซลล์ต่าง ๆ
คำว่า “คาร์โบไฮเดรต” มีรากศัพท์มาจากคำว่า คาร์บอน (carbon) และคำว่าไฮเดรต (hydrate) ที่แปลว่าอิ่มตัวไปด้วยน้ำ เมื่อรวมกันแล้วก็จะหมายถึงคาร์บอนที่อิ่มตัวไปด้วยน้ำ

ประเภทของคาร์โบไฮเดรต

คาร์โบไฮเดรตสามารถจำแนกตามโมเลกุล แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
  1. น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว หรือ โมโนแซ็กคาไรด์ (monosaccharide) จัดเป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีโมเลกุลเล็กที่สุด เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะดูดซึมจากลำไส้ได้เลย โดยไม่ต้องผ่านการย่อย ตัวอย่างของน้ำตาลประเภทนี้ได้แก่ กลูโคส (glucose), ฟรักโทส (fructose), กาแล็กโทส (galactose) และทั้งกลูโคสและฟรักโทสต่างก็เป็นน้ำตาลที่พบได้ในผัก ผลไม้ และน้ำผึ้ง น้ำตาลส่วนใหญ่ที่พบในเลือด คือ กลูโคส ซึ่งเป็นตัวให้พลังงานที่สำคัญแก่ร่างกาย
  2. น้ำตาลโมเลกุลคู่ หรือ ไดแซ็กคาไรด์ (disaccharide) จัดเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ประกอบไปด้วยน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว 2 ตัวมารวมกัน น้ำตาลชนิดนี้เมื่อรับประทานเข้าไป น้ำย่อยในลำไส้เล็กจะย่อยออกเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวก่อน ร่างกายจึงจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่สำคัญทางด้านอาคาร คือ แล็กโทส (lactose) ที่ประกอบด้วยกลูโคสและกาแล็กโทส และซูโครส (sucrose) ที่ประกอบด้วยกลูโคสและฟรักโทส, และมอลโทส (maltose)
  3. น้ำตาลโมเลกุลใหญ่ หรือ โพลีแซ็กคาไรด์ (polysaccharide) จัดเป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีโมเลกุลใหญ่และมีสูตรโครงสร้างที่ซับซ้อน ซึ่งประกอบไปด้วยน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวจำนวนมากกว่า 10 หน่วยขึ้นไปมารวมตัวกันอยู่ โดยเชื่อมต่อกันด้วยพันธะไกลโคซิติกชนิดต่าง ๆ โพลีแซ็กคาไรด์ที่สำคัญทางอาหาร คือ แป้ง (starch), ไกลโคเจน (glycogen), เซลลูโลส (cellulose), ไคติน (chitin), ลิกนิน (lignin), เพกติน (pectin), อินนูลิน (inulin), เฮปาริน (heparin) ฯลฯ โดยไกลโคเจนจะพบได้ในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ ส่วนแป้งและเซลลูโลสจะพบได้ในพืช แม้ว่าทั้งแป้ง ไกลโคเจน และเซลลูโลสจะประกอบไปด้วยกลูโคสเหมือนกัน แต่ลักษณะของการเรียงตัวของกลูโคสจะต่างกัน ทำให้สูตรโครงสร้างต่างกัน และเฉพาะแป้งและไกลโคเจนเท่านั้นที่น้ำย่อยในลำไส้สามารถย่อยได้
หมายเหตุ : บางข้อมูลระบุว่าคาร์โบไฮเดรตแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ซึ่งรวมไปถึงไตรแซ็กคาไรด์ (Trisaccharide) ที่เป็นน้ำตาลที่ประกอบไปด้วยน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว 3 โมเลกุลมาเชื่อมต่อกันด้วยพันธะไกลไคไซด์ เช่น น้ำตาลรัฟฟิโนส (raffinose) ซึ่งเป็นน้ำตาลที่พบได้มากในธรรมชาติ โดยเฉพาะให้หัวบีท โดยจะประกอบไปด้วยน้ำตาลแล็กโทส กลูโคส และฟรักโทส
นอกจากนี้คาร์โบไฮเดรตยังสามารถจำแนกตามสมบัติทางกายภาพและทางเคมีออกได้เป็น 2 จำพวก คือ
  • พวกที่เป็นน้ำตาล
  • พวกที่ไม่ใช่น้ำตาล (แป้งและเซลลูโลส)
หมายเหตุ : น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวและน้ำตาลโมเลกุลคู่เป็นน้ำตาลที่มีรสหวาน แต่จะมีรสหวานไม่เท่ากัน โดยน้ำตาลฟรักโทสจะมีความหวานคิดเป็นร้อยละ 110 ส่วนกลูโคสและแล็กโทสจะมีความหวานเป็นร้อยละ 61 และ 16 ของน้ำตาลทรายตามลำดับ

อาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรต

  • อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตจะมีอยู่ด้วยกัน 5 ประเภทด้วยกัน คือ ธัญพืช ผัก นม ขนมหวาน และน้ำหวานชนิดต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ข้าวจ้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวฟ่าง เผือก มันเทศ มันสำปะหลัง อ้อย ผลไม้ต่าง ๆ ฯลฯ ส่วนในสัตว์จะพบได้น้อยกว่าในพืช
คาร์โบไฮเดรต

ประโยชน์ของคาร์โบไฮเดรต

  1. ช่วยให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวเพื่อทำงานหรือประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ได้ (คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม จะให้พลังงาน 4 แคลอรี่)
  2. คาร์โบไฮเดรตจัดเป็นส่วนประกอบของสารที่ทำหน้าที่สำคัญในร่างกายหลายชนิด เช่น สารจำพวกไกลโคโปตีน (glycoprotein), ไกลโคไลปิด (glycolipid), กรดนิวคลิอิค (nucleic acid) เป็นต้น
  3. คาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งงานที่เรียกว่าโพลีแซ็กคาไรด์สะสม (Storage polysaccharide) เช่น ไกลโคเจนและแป้ง ซึ่งเป็นเสมือนแหล่งเสบียงที่เก็บตุนพลังงานไว้ เมื่อร่างกายต้องการใช้พลังงานก็จะถูกย่อยให้เป็นกลูโคสเพื่อใช้เผาผลาญให้ได้พลังงานต่อไป
  4. คาร์โบไฮเดรตมีความจำเป็นต่อการช่วยเผาผลาญไขมันในร่างกายให้เป็นไปตามปกติ หากร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอร่างกายจะเผาผลาญไขมันเป็นพลังงานมากขึ้น ทำให้เกิดสารประเภทคีโทนมาคั่ง (ketone bodies) ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
  5. คาร์โบไฮเดรตจะช่วยสงวนคุณค่าของโปรตีนไว้ไม่ให้เผาผลาญเป็นพลังงาน หากได้รับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตเพียงพอ
  6. คาร์โบไฮเดรตที่เหลือใช้จากการเปลี่ยนไปเป็นพลังงานและสร้างไกลโคเจน ร่างกายจะนำไปใช้ในการสังเคราะห์ไขมันและกรดอะมิโน
  7. การทำงานของสมองจะต้องพึ่งกลูโคส (glucose) ซึ่งเป็นตัวให้พลังงานที่สำคัญ
  8. กรดกลูคูโรนิก (glucuronic acid) (อนุพันธ์ของกลูโคส) มีหน้าที่เปลี่ยนสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายเมื่อผ่านไปที่ตับ ทำให้มีพิษลดลงและอยู่ในสภาพที่ร่างกายจะสามารถขับถ่ายออกมาได้
  9. ช่วยทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของผนังเซลล์ในแบคทีเรีย เซลล์พืชและสัตว์ เช่น ไคตินในกระดองปู วุ้นในสาหร่ายทะเล และยังทำหน้าที่ทางชีวภาพอื่น ๆ เช่น เฮปาริน จะช่วยป้องกันการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น
  10. อาหารจำพวกธัญพืชนอกจากจะมีคาร์โบไฮเดรตแล้ว ยังเป็นแหล่งที่ให้โปรตีน เกลือแร่ และวิตามินอีกด้วย

คำแนะนำในการรับประทานคาร์โบไฮเดรต

  • ถ้าได้รับคาร์โบไฮเดรตมากจนเกินความต้องการของร่างกาย คาร์โบไฮเดรตจะถูกเปลี่ยนไปเป็นไขมันและทำให้เกิดโรคอ้วนได้
  • แม้ว่าไขมันและโปรตีนจะให้พลังงานได้เช่นเดียวกับคาร์โบไฮเดรตก็จริง แต่อย่างน้อยที่สุดแล้ว ผู้ใหญ่แต่ละคนก็ควรได้รับคาร์โบไฮเดรตไม่ต่ำกว่า 50-100 กรัมต่อวัน ทั้งนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงผลร้ายอันเกิดจากการเผาผลาญโปรตีนและไขมัน และถ้าจะให้ดีพลังงาน 50% ควรได้รับมาจากคาร์โบไฮเดรต (ชาวไทยชนบทบางแห่งได้รับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตมากถึงร้อยละ 80 ต่อวัน)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)
------------------------------------------------------------------------------------
ติดตามเราเป็นเพื่อนเฟสบุคหมอยานเรศวร  http://www.facebook.com/moryanaresuan  
ติดตามเราเป็นเพื่อนทางไลน์ http://line.me/ti/p/%40morya
สนใจสินค้าสุขภาพและความงาม http://www.moryanaresuan.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น