แฟ้มภาพ
บทความโดย รศ.นพ.สมบูรณ์ คีลาวัฒน์ ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย
มะเร็งมีความน่ากลัวมากน้อยแค่ไหน
หลายคนพอรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง ก็หมดกำลังใจ ไม่อยากทำอะไรต่อความจริงโรคมะเร็งไม่ได้ร้ายแรงไปเสียหมด มะเร็งบางชนิดสามารถหายหรือรักษาให้มีชีวิตอยู่ได้นานขึ้นได้ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจึงควรรู้นิสัยของมะเร็งที่ตนเป็นว่าเป็นแบบใด โดยทั่วไปแพทย์สามารถทำนายผลลัพธ์ของมะเร็งแต่ละชนิดได้ โดยดูจากสถิติในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งชนิดต่างๆ ที่มีนักวิจัยเก็บรวบรวมไว้ก่อนหน้านี้ สถิติที่ใช้มากที่สุดคือจำนวนผู้ป่วยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่รอดชีวิตจากโรคมะเร็งในระยะเวลาหนึ่งๆ เช่นในระยะ 5 ปี เป็นต้น ตัวอย่างเช่น มะเร็งชนิด ก. มีอัตรารอดชีวิตเกิน 5 ปีสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงว่าผู้ป่วย 90 ใน 100 คนที่เป็นมะเร็งชนิดนี้สามารถรอดตายอยู่ได้เกิน 5 ปี และมีเพียง 10 คนเท่านั้นที่ตายจากโรคมะเร็งชนิดนี้ในเวลาไม่ถึง 5 ปี แสดงว่ามะเร็งชนิดนี้ไม่ค่อยร้ายแรงเท่าไหร่นัก
ในทางกลับกัน มะเร็งชนิด ข.มีอัตรารอดชีวิตเกิน 5 ปี เพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งก็หมายความว่าผู้ป่วยที่จะอยู่รอดจากมะเร็งชนิดนี้เกินระยะเวลา 5 ปี มีแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลืออีก 90 เปอร์เซ็นต์ตายหมดก่อนจะครบ 5 ปี ซึ่งแสดงว่าเป็นมะเร็งที่มีนิสัยดุร้ายกว่าชนิดแรก จะเห็นได้ว่าจากสถิติที่มีการรวบรวมไว้ในมะเร็งแต่ละชนิดทำให้แพทย์สามารถทำนายได้ว่าคนไข้จะอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่ การพยากรณ์นี้ไม่แน่ว่าจะแม่นยำเสมอไป เพราะเป็นแค่สถิติที่เก็บรวบรวมจากคนไข้ในอดีต มีหลายครั้งที่แพทย์ทำนายผลผิด เนื่องจากคนไข้แต่ละรายย่อมมีปัจจัยที่มาเกี่ยวข้องแตกต่างกันเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละบุคคล ผู้เขียนเคยพบผู้ป่วยบางรายที่แพทย์ทำนายว่าจะอยู่ได้ไม่นาน แต่จากข้อเท็จจริงปรากฏว่าผ่านไปหลายปีแล้ว คนไข้ยังสบายดี
มะเร็งรักษาได้อย่างไร
วิธีรักษามะเร็งโดยหลักๆ ได้แก่ การผ่าตัด เพื่อจะได้เอาก้อนมะเร็งออกให้ได้มากที่สุด การฉายรังสีและการให้ยาเคมีบำบัด สองอย่างหลังนี้จะส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อปกติด้วย การฉายรังสีนั้น นอกจากจะทำลายเซลล์มะเร็งแล้ว ยังพลอยกระทบถึงเนื้อเยื่อปกติข้างเคียงด้วยทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เป็นต้นว่าคนไข้ที่เป็นมะเร็งในช่องปากซึ่งได้รับการฉายรังสี จะพลอยส่งผลให้เกิดอาการปากแห้งไปด้วยเนื่องจากรังสีไปทำลายต่อมน้ำลายที่อยู่ข้างๆ ส่วนยาเคมีบำบัดซึ่งมีฤทธิ์ทำลายเซลล์ที่แบ่งตัวเร็วทำให้เหมาะในการนำมาใช้ฆ่าเซลล์มะเร็งซึ่งมีการแบ่งตัวเร็ว ก็อาจมีผลข้างเคียงไปทำลายเซลล์ปกติที่แบ่งตัวเร็วด้วย เช่น เซลล์ขน และเซลล์เม็ดเลือด ทำให้มีผมร่วง และติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำลง
ในปัจจุบันเริ่มมีการนำวิธีรักษาแบบมุ่งเป้า (targeted therapy) มาใช้เพิ่มขึ้นอีกอย่าง กล่าวคือใช้ยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อโมเลกุลที่ผิดปกติที่สร้างจากยีนผ่าเหล่าที่ก่อให้เกิดมะเร็งชนิดนั้นๆ การรักษาด้วยวิธีนี้จะไม่เกิดผลข้างเคียงแบบเคมีบำบัดเพราะออกฤทธิ์จำเพาะต่อเซลล์มะเร็งเท่านั้น ทุกวันนี้ ยาพวกนี้ยังมีราคาค่อนข้างแพง จึงยังไม่สามารถใช้ได้อย่างแพร่หลายในบ้านเรา
จะป้องกันโรคมะเร็งอย่างไร
จะเห็นได้ว่ามะเร็งมีความสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก ดังนั้น การป้องกันจึงทำได้โดยการปรับวิถีชีวิตเพื่อจะได้หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นให้ได้มากที่สุด รวมทั้ง การหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อจะได้พบมะเร็งในระยะแรกๆ และรีบรักษาเสียก่อนที่มันจะเริ่มเข้าสู่ระยะลุกลาม
โดยสรุป แม้ว่าโรคมะเร็งจะเป็นภัยร้ายที่น่ากลัวซึ่งคร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับหนึ่งในแต่ละปี แต่หากรู้เท่าทันมัน ก็จะช่วยให้ประชาชนทั่วไปปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง และทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศเราลดต่ำลง หรือกรณีที่หลีกไม่พ้น อย่างน้อยก็ได้รู้หลักปฏิบัติทำให้ตนเองไม่เสียชีวิตจากมันหรือมีชีวิตอยู่กับโรคมะเร็งได้นานและมีความสุขขึ้น
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์
------------------------------------------------------------------------------------
สนใจสินค้าสุขภาพและความงาม http://www.moryanaresuan.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น